หลักการและเหตุผล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 1 ขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ในหัวข้อ นวัตกรรมอาคาร 2559 (Building Innovation : B-inno2016) ในระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรม ไมด้า ทวารวดี แกรนด์ จังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 2 ในชื่อหัวข้อ นวัตกรรมอาคาร 2560 : อาคารอัจฉริยะอย่างยั่งยืน (The 2nd RMUTR National Conference (Building Innovation 2017 : Sustainable Smart Building)) ในระหว่างวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา การประชุมครั้งที่ 3 ในชื่อหัวข้อ การบูรณาการความรู้เพื่อสังคมที่ยั่งยืน (The 3rd RMUTR National Conference : The Integration of knowledge for Sustainable Society) ในระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2561 ณ อาคารสัมมนาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ต่อเนื่องมาจนถึงในปี พ.ศ.2562 ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 1 ขึ้นในหัวข้อ การยกระดับงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน (Increasing Research to Sustainable Economic and Society) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การบูรณาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กลุ่มที่ 2 สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน และในปี พ.ศ.2563 ได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 2 ขึ้นในหัวข้อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และงานสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Innovative Technology and Creative Work toward Sustainable Development) โดยการประชุมวิชาการระดับชาติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การบูรณาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 2 สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน กลุ่มที่ 3 การออกแบบและงานสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สายสังคมศาสตร์ และศิลปะประยุกต์ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านวิชาการระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ หลักสูตรและหน่วยงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านวิจัยในสาขาต่าง ๆ โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดเป็นเวทีวิชาการระดับชาติและนานาชาติที่รวบรวมผลงานทางด้านงานวิจัยอันทรงคุณค่า และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากงานวิจัยในวงกว้าง เป็นฐานในการคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการขององค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย และการบริการวิชาการเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ และการใช้ประโยชน์ในเชิงประจักษ์แก่สังคม รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้ที่มีคุณค่าจากการแลกเปลี่ยนทัศนะ ประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ให้กับการแก้ไขปัญหาในสังคมต่าง ๆ โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งพาของสังคมอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมพลวัตร
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา ได้ติดตามข้อมูล ทิศทาง และการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาทางด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการของประเทศ
2. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานทางวิจัย และได้รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิจัย
3. เพื่อเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิจัยทั้งภายในและ ภายนอกมหาวิทยาลัย
4. เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมและเกิดการเรียนรู้ แนวความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาและคิดค้นงานวิจัยสำหรับนักวิจัยมือใหม่ อาจารย์ นักวิชาการ และนิสิต/นักศึกษา
5. เพื่อเป็นช่องทางในการคัดสรรผลงานการวิจัยที่มีศักยภาพ นำไปประยุกต์ใช้กับชุมชน สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตหัวข้อการประชุม
การนำเสนอผลงานวิชาการในระดับชาติ และนานาชาติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 การบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม
– วิศวกรรมการออกแบบ และการก่อสร้าง
– การจัดการอาคาร ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร
– วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม
– วิศวกรรมเครื่องกลและระบบอัตโนมัติ
– วิศวกรรมอุตสาหการ
– วิทยาการและวิศวกรรมวัสดุ
– คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
– พลังงานและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 2 สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน
– กฎหมาย รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
– การศึกษาและภาษาศาสตร์
– อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
– บริหารธุรกิจ
– การจัดการ
– บัญชีและการตลาด
– เศรษฐศาสตร์
กลุ่มที่ 3 การออกแบบและงานสร้างสรรค์
– สถาปัตยกรรมและการออกแบบ
– ศิลปะประยุกต์และงานสร้างสรรค์