หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 1 ขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ในหัวข้อ นวัตกรรมอาคาร 2559 (Building Innovation : B-inno2016) ในระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรม ไมด้า ทวารวดี แกรนด์ จังหวัดนครปฐม  ต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 2 ในชื่อหัวข้อ นวัตกรรมอาคาร 2560 : อาคารอัจฉริยะอย่างยั่งยืน (The 2nd National RMUTR Conference (Building Innovation 2017 : Sustainable Smart Building) ในวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา และในปี พ.ศ.2561 ได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 3 ขึ้น ในครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตประชุมเป็น “การบูรณาการความรู้เพื่อสังคมที่ยั่งยืน (The knowledge integration for sustainable society)” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นวัตกรรมอาคาร  (Building Innovation) กลุ่มที่ 2 การบูรณาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (Integration of Science and Technology) และกลุ่มที่ 3 สังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน (Social science for Community Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายสังคมศาสตร์ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านวิชาการระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ หลักสูตรและหน่วยงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านวิจัยในสาขาต่าง ๆ โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดเป็นเวทีวิชาการระดับชาติที่รวบรวมผลงานทางวิจัยอันทรงคุณค่า และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากงานวิจัยในวงกว้าง เป็นฐานในการคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะส่งผลต่อการสร้าง การเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการขององค์ความรู้ทางวิชาการ วิจัย และการบริการวิชาการเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ และการใช้ประโยชน์ในเชิงประจักษ์ แก่สังคม รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้ที่มีคุณค่าจากการแลกเปลี่ยนทัศนะ ประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ให้กับการแก้ไขปัญหาในสังคมต่าง ๆ โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งพาของสังคมอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมพลวัตร

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย อาจารย์  นิสิต/นักศึกษา ได้ติดตามข้อมูล ทิศทาง และการเปลี่ยนแปลงใน การพัฒนาทางด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการของประเทศ

2. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย อาจารย์ นิสิต/นักศึกษา ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานทางวิจัย และได้รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิจัย

3. เพื่อเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางวิจัยทั้งภายในและ ภายนอกมหาวิทยาลัย

4. เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมและเกิดการเรียนรู้ แนวความคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาและคิดค้นงานวิจัยสำหรับนักวิจัยมือใหม่ อาจารย์ นักวิชาการ และนิสิต/นักศึกษา

5. เพื่อเป็นช่องทางในการคัดสรรผลงานการวิจัยที่มีศักยภาพ นำไปประยุกต์ใช้กับชุมชน สังคมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ